Personal Branding : เมื่อคนไม่เชื่อคำโฆษณา แต่สนใจว่า “ใครพูด”

Personal Branding : เมื่อคนไม่เชื่อคำโฆษณา แต่สนใจว่า “ใครพูด”

Key Focus : Personal Branding

ถ้าให้คุณลองจินตนาการว่า “ถ้าสมมติฉันเป็นแบรนด์ ฉันจะเป็นแบรนด์แบบไหน?”

เมื่อพูดถึง Branding ปกติเราคงคุ้นเคยกับการทำ Persona ของแบรนด์ ซึ่งหมายถึง การจินตนาการว่า ถ้าแบรนด์เป็นคน จะมีคาแรคเตอร์เป็นคนแบบไหน 

แต่ในปัจจุบัน เราคงเริ่มเห็นการทำ Personal Branding ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น CEO ของแบรนด์ต่างๆ ที่ออกสื่อให้เราได้คุ้นเคยกับแบรนด์เขามากขึ้น เห็น CEO คนนี้ก็นึกถึงแบรนด์นี้ทันที และเรารู้สึกกับ CEO คนนี้อย่างไร ก็จะส่งผ่านความรู้สึกเดียวกันต่อแบรนด์เช่นกัน

ยกตัวอย่าง เช่น

ถ้าพูดถึง Steve Jobs เราก็จะคิดถึงแบรนด์ Apple ทันที เราจะเกิดภาพจำบุคลิกของเขา การใส่เสื้อคอเต่าสีดำ กับกางเกงยีนส์ ยืน Present สินค้า Apple ตัวใหม่ล่าสุดอย่างมั่นใจ เพราะผ่านการพัฒนานวัตกรรมที่ล้ำหน้าชวนตื่นเต้น พร้อมกับ Design ที่ทันสมัยเสมอ

แต่กว่าจะมาถึงจุดภาพจำนี้ เราจำเป็นต้องได้รับการสื่อสาร ผ่านสื่อต่างๆ มามากเพียงพอ ถ้าย้อนกลับไป หลายคนคงเคยได้อ่านเรื่อง Steve Jobs พัฒนา Apple ในโรงรถกับเพื่อนๆ จนเกิดเป็น Macintosh เครื่องแรก ที่ทำให้วงการ Microsoft ที่เป็นอันดับ 1 ตอนนั้นต้องสั่นสะเทือน

จนกระทั่งเราเริ่มเห็นว่า คนที่ถือ Apple จะเป็นดีไซเนอร์ ดูดีมีสไตล์ แสดงว่าการดีไซน์ของ Apple นั้นไว้วางใจได้แน่นอน และเราคงเห็นสินค้า Apple ที่มีการพัฒนานวัตกรรม อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะออกมากี่ Product หรือกี่รุ่น ก็เป็นที่จับตามองของสาวกทั่วโลกตลอดมา

การได้รับ Input ทุกอย่างมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราเกิดการรับรู้ว่า Steve Jobs เก่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญ (Tech Geek)  เรื่องราวการพัฒนา Apple จากจุดเริ่มต้นจนประสบความสำเร็จได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน ทำให้เกิดความรู้สึกชื่นชม เชื่อมั่นในความเก่งเรื่องนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ 

การเกิดความรู้สึกแบบนี้กับบุคคล ได้ให้ความรู้สึกเชื่อมโยงกับแบรนด์ โดยอัตโนมัติเช่นกัน สาวก Apple จึงรู้สึกมั่นใจในคุณภาพ ความล้ำสมัย การดีไซน์ที่ออกแบบมาอย่างดีของสินค้าทุกชิ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ ที่บางทีอาจไม่ต้องศึกษาสินค้าอย่างละเอียด ก็ตัดสินใจซื้อทันที เพราะรู้สึกเชื่อมั่นใน Steve Jobs ไปแล้ว

การเกิดภาพจำแบบนี้ได้ มาจากการทำ Personal Branding ทั้งสิ้น (อาจจะไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่เริ่ม) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำ Personal Branding มีผลกับยอดขาย หรือแม้กระทั่งความ Loyalty กับแบรนด์เป็นอย่างมาก

Personal Branding 1

ถ้าถามว่า แล้วใครสามารถทำPersonal Brandingได้บ้าง?

คำตอบก็คือ ทุกคน!

เพราะPersonal Branding เป็นได้ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว อย่าง Resume หรือ Social Media Profile ของเราเอง เพราะเรากำลังสื่อสารตัวเราในมิติการทำงาน ความสนใจงานอดิเรกบางอย่าง ให้คนอื่นรับรู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร 

ไปจนถึงตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ Influencer ต่างๆ เป็นการทำPersonal Branding ทั้งหมด ถ้าสังเกต เราก็จะรู้ว่า Influencer แต่ละคนมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง ทำ Content สื่อสารอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการจดจำของกลุ่ม Audience 

แต่ถ้าพูดถึงในเชิงแบรนด์เอง การทำPersonal Branding เป็นกลยุทธ์ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ Social Media สำหรับการทำตลาดที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี เพราะให้ความรู้สึกมีตัวตน สัมผัสได้มากกว่าตัว Product อย่างเดียว เป็นโอกาสที่ลูกค้าจะให้ความสนใจและนำไปสู่การซื้อขาย รวมไปถึงการเป็น Brand Loyalty ได้อีกด้วย 

ทำ Personal Branding อย่างไร?

1. หาตัวตนของตัวเองให้เจอ!

หลายคนอาจคิดว่าPersonal Branding คือ การสร้างภาพลักษณ์ แต่หัวใจสำคัญ ก็คือ ภาพลักษณ์นั้นต้องเป็นตัวตนที่แท้จริง (Genuine) Steve Jobs จะเป็นPersonal Branding ที่แข็งแรงและยั่งยืนไม่ได้ หากไม่ได้เก่งจริง เพราะฉะนั้นก่อนจะทำPersonal Branding เราต้องรู้จักตัวตนของเราก่อน ถึงจะสามารถตัดสินใจได้ว่า มุมนี้แหละ คือ ฉัน! ที่ต้องการจะบอกให้โลกรู้ 

2. สื่อสาร “ตัวฉัน” ออกไป 

การบอกเล่าตัวตนของเรานั้น ไม่จำเป็นจะต้องสื่อสาร “ตัวตน” ที่เป็นชีวิตเราทั้งหมด แต่ให้เลือกเฉพาะมิติที่เป็นประโยชน์ต่อแบรนด์ และ Audience เท่านั้น

การสื่อสารนี้จะมีประสิทธิภาพ และได้รับความสนใจที่สุด เมื่อ

  • สื่อสารถูกกลุ่ม Audience (Right People) : ค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ใช่  ทำความรู้จัก และเข้าใจว่าพวกเขาต้องการอะไร และ recheck กับ “ตัวฉัน” ที่เราต้องการจะสื่อออกไปว่าตรงกับความสนใจของพวกเขาหรือไม่
  • สื่อสารถูกจังหวะ (Right Time) : เลือกช่องทางให้เหมาะสมกับกลุ่ม Audience รวมไปถึงการจับเทรนด์ความสนใจของกลุ่ม Audience เพื่อจะได้สื่อสารในสิ่งที่ต้องการได้ถูกจังหวะ
  • สื่อสารได้ถูกใจ (Right Message) : เนื้อหาที่สื่อออกไปต้องโดดเด่น น่าสนใจ สร้างแรงบันดาลใจ หรือมอบประโยชน์ (Value) เพื่อสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับ Audience ได้

3. สร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

เมื่อกลุ่ม Audience ได้ติดตามเรา แสดงว่าพวกเขาเกิดความเชื่ออะไรบางอย่างในตัวเรา เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องรักษาความเป็น “ตัวฉัน” เอาไว้ (พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับการคุมโทน และมี Brand Book เป็นของตัวเอง) 

การสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่เราจะสามารถให้คุณค่า และ Interact กับ Audience ได้ พวกเขาจะได้มีจุดประสงค์ในการติดตามเราอยู่ ซึ่งทำให้เราเป็นที่จดจำหรือเป็นการพยายามทำให้เราอยู่ในความคิดของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ขั้นตอนนี้จะทำให้เกิด Brand Loyalty ได้

ในทางจิตวิทยาคนเราจะเกิดความรู้สึกผูกพันกับสิ่งมีชีวิตได้มากกว่าสิ่งของ ดังนั้นการทำPersonal Branding จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การตลาด ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะช่วยสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงบุคคลกับแบรนด์ เพิ่มการโน้มน้าวการตัดสินใจซื้อสินค้า และสร้าง Brand Loyalty ให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

แล้วคุณล่ะ เคยโดน Personal Branding ของแบรนด์ไหน ตกมาบ้าง?​

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติม :
ชีวิตหลังโควิดทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างไร และ จะเกิดแนวทางอย่างไรในภาคธุรกิจ?
10 วิธีตั้งชื่อแบรนด์อย่างไรให้เหมาะสมและยั่งยืน?
4 Steps — เลือกชื่อแบรนด์ที่เหมาะสม

______________
References : 

https://www.forbes.com/

https://adaddictth.com/knowledge/

Related Stories